ดาวศุกร์

          

 

 

            ดาวศุกร์ (venus) เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2
ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวงในระบบสุริยะ มีขนาดใกล้เคียง กับโลกจนได้ชื่อว่าเป็น "น้องสาวฝาแฝด"
กับโลก ดาวศุกร์ ถูกตั้งชื่อตามเทพเจ้าวีนัสซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักและความงามในยุคโรมัน
เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่
มีความสว่างมากที่สุดบนฟากฟ้าดุจอัญมณี และเนื่องด้วยดาวศุกร์จะปรากฏบนฟากฟ้า
ไม่ตอนหัวค่ำก็ตอนรุ่งเช้าเวลาใดเวลาหนึ่ง 
นักดาราศาสตร์สมัยก่อนจึงเข้าใจว่าเป็นดาวสองดวง (ดาวประจำเมืองในตอนหัวค่ำ
และดาวประกายพฤกษ์ในตอนรุ่งเช้า) รวมทั้งเมื่อส่องด้วยกล้องดูดาว
จะพบว่าดาวศุกร์มีลักษณะเป็นเสี้ยว (phase) คล้ายดวงจันทร์ ซึ่งทั้งปรากฏการณ์การขึ้น-ตก
ของดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำหรือรุ่งเช้า รวมถึงลักษณะการเป็นเสี้ยวของดาวศุกร์บ่งบอกว่าดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์วงใน และยังสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง (heliocentric) ของระบบสุริยะ

     มีคนเปรียบเทียบว่าดาวศุกร์เป็นดาวฝาแฝดกับโลก เนื่องจากดาวทั้งสองมีความคล้ายกันทั้งขนาด, มวล,
ความหนาแน่นและปริมาตร โดยมีทฤษฎีว่าดาวศุกร์กับโลกอาจกำเนิดมาจากกลุ่มก๊าซในบริเวณและช่วงเวลาเดียวกัน แต่จากข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์โดยยานอวกาศที่โคจรรอบดาวศุกร์กลับพบว่า
ดาวศุกร์กับโลกมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บนดาวศุกร์ไม่มีน้ำและไอน้ำอยู่เลย
ชั้นบรรยากาศมีความหนาแน่นมากและมีความดันบรรยากาศสูงถึง 92 เท่าของความดันบรรยากาศบนโลกที่ระดับน้ำทะเล บรรยากาศประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งไอของกรดซัลฟิวริก ด้วยอุณหภูมิที่พื้นผิวสูง
ถึงประมาณ 482 องศาเซลเซียส 

     เนื่องจากมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่มาก จึงทำให้ความร้อนที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานจากพื้นผิว
ของดาวศุกร์ที่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์กลับไม่ถูกปลดปล่อยออกสู่อวกาศ แต่จะสะท้อนชั้นคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บความร้อนภายในชั้นบรรยากาศ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ถ้าไม่มีปรากฏการณ์เรือนกระจกบนดาวศุกร์ อุณหภูมิพื้นผิวบนดาวศุกร์จะต่ำกว่านี้มาก
คาดว่าอาจถึง -100 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว 
ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบใช้เวลาประมาณ 225 วันของโลก
ในขณะที่การหมุนรอบตัวเองของดาวศุกร์จะช้ามากคือใช้เวลาถึง 243 วันของโลก
นั่นหมายถึงหนึ่งวันบนดาวศุกร์มีช่วงเวลานานกว่าหนึ่งปีบนดาวศุกร์ นอกจากนั้นการหมุนรอบตัวเองของดาวศุกร์จะกลับทิศจากโลกคือมีการหมุนจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ถ้าเราสังเกตการณ์อยู่บนดาวศุกร์จะพบดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก ซึ่งกว่าดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าบนดาวศุกร์อาจใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีบนโลกซะอีก 

     เนื่องจากคาบการหมุนรอบตัวเองและคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้ช่วงเวลาเกือบจะเท่ากัน
จนดูคล้ายว่าดาวศุกร์เกือบจะหันด้านเดียวเข้าหาดวงอาทิตย์ เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ดาวศุกร์เหมือนกับจะหันด้านเดิมเข้าหาโลกตลอดเมื่อดาวศุกร์และ
โลกโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กันมากที่สุด 
เนื่องด้วยชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีความหนาแน่นมากจนมีลักษณะเป็นเมฆหนาปกคลุมโดยรอบ ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์เมื่อมาตกกระทบเมฆดังกล่าวจะสะท้อนแสงออกมาถึง 70% ของปริมาณแสงทั้งหมด
คงเหลือเพียง 30 % ที่ผ่านเมฆเข้าสู่พื้นผิวของดาวศุกร์ได้ การที่เมฆบนดาวศุกร์ทำหน้าที่สะท้อนแสงออกจากตัวดวงได้ดีทำให้ค่าสัดส่วน
ของแสงที่สะท้อนออกต่อแสงที่ตกกระทบทั้งหมด (albedo) มีค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์อีกแปดดวง ดาวศุกร์จึงเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนฟากฟ้า
และเนื่องจากเมฆบนดาวศุกร์สามารถป้องกันแสงได้ดี 

     ทำให้เมื่อยานมาริเนอร์ 10 ถ่ายภาพดาวศุกร์ในช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 จึงไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดพื้นผิวบนดาวศุกร์ได้ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2521
หรืออีกประมาณ 4 ปี ต่อมา มนุษย์จึงสามารถเห็นพื้นผิวบนดาวศุกร์ได้จากการส่งยานไพโอเนียร์วีนัส 1 ไปโคจรรอบดาวศุกร์และถ่ายภาพในช่วงคลื่นเรดาร์ ซึ่งสามารถทะลุผ่านเมฆหนาที่ปกคลุมดาวศุกร์ได้ (เทคโนโลยีคลื่นเรดาร์มีใช้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อใช้ในการค้นหาเครื่องบินที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มเมฆ) 
     ยานไพโอเนียร์วีนัส 1 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของดาวศุกร์เป็นที่ราบเอียงและทิวเขาเล็กๆ
มีพื้นที่ราบต่ำหลายแห่ง มีเทือกเขาขนาดใหญ่อยู่ในซีกเหนือและบริเวณตามแนวศูนย์สูตร
ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 ยานแมกเจลแลนได้เริ่มโคจรรอบดาวศุกร์เป็นเวลา 4 ปี และทำแผนที่พื้นผิวดาวศุกร์โดยใช้คลื่นเรดาร์ที่ความละเอียดประมาณ 300 เมตรต่อพื้นที่
ภาพ 1 พิกเซล ทำให้มนุษย์ทราบรายละเอียดบนพื้นผิวของดาวศุกร์เกือบทุกบริเวณ สภาพโดยทั่วไปไม่พบหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กดังเช่นดาวพุธหรือดวงจันทร์
แต่พบหลุมอุกกาบาตลักษณะเป็นกลุ่มๆ
ซึ่งน่าจะเกิดจากการแตกกระจายของอุกกาบาตขนาดใหญ่
ในชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นก่อนตกสู่พื้น

     พื้นผิวส่วนใหญ่ของดาวศุกร์ถูกปกคลุมด้วยหินภูเขาไฟ มีภูเขาไฟขนาดใหญ่หลายแห่งและพบร่องรอยการไหลของลาวาแผ่ขยายออกจากปากปล่องภูเขาไฟ
ประมาณหลายร้อยกิโลเมตร พบว่ามีแห่งหนึ่งที่มีการแผ่ขยายของลาวากว้างถึงเกือบ 7,000 กิโลเมตร ภาพจากยานแมกเจลแลนยังแสดงถึง บริเวณที่ค่อนข้างสว่างในส่วนที่ราบสูง ซึ่งคาดว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะประกอบด้วยแร่ธาตุซึ่งมีส่วนผสมของโลหะจำพวกแร่ไพไรต์ (pyrite) ซึ่งเป็นแร่ที่มีลักษณะมันวาวคล้ายทอง (พบได้หลายที่บนโลก) 
นอกจากนี้ยังแสดงถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของดาวศุกร์ เช่น ภูเขาไฟรูปทรงแพนเค้ก ซึ่งเหมือนจะเกิดจากการปะทุของลาวาที่หนามาก และบริเวณการยุบตัวของโดมที่เกิด
จากแรงดันของของเหลวชั้นแมนเทิล
ใต้พื้นผิวของดาวศุกร์ เรียกว่า โคโรแน (coronae) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่
ถึงประมาณ 100-600 กิโลเมตร บางบริเวณยังพบลักษณะริ้วเขาหรือแนวเขาที่
แผ่กระจายรอบภูเขาไฟเป็นวงกลมตามแนวรัศมี เรียกว่า อะแรชนอยด์ (arachnoids) ซึ่งลักษณะดังกล่าวพบได้เฉพาะบนพื้นผิวของดาวศุกร์เท่านั้น